MCI 303 การบริหารหลักสูตรเเละการสอน

หลักการบริหารหลักสูตร: แนวคิด
   การทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการบริหารหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจนและถูกต้องถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ  โดยมีหลักและแนวคิดที่สำคัญ 9 ประการ ดังนี้
   1. การวางแผนงานหลักสูตร ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทุกโรงเรียนจะมีทั้งหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่า หลักสำคัญในการบริหารหลักสูตรคือจะต้องทำให้ผู้เรียนสูญเสียประโยชน์น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนหลักสูตรให้น้อยและสั้นที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี ต้องจัดระบบให้ดี มีข้อมูลที่ชัดเจน และตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

   2. การจัดระบบข้อมูลโรงเรียน นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งในการบริหารหลักสูตร ระบบข้อมูลโรงเรียนประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ ดังนี้
   * หลักสูตร - ระบบการสร้างหลักสูตร การบริหารหลักสูตร และการประเมินผล
   
* การบริหารจัดการ - มีข้อมูลด้านผู้เรียน ผู้สอน ว่ามีความพร้อมหรือไม่เพียงใด
   
* ระบบข้อมูล - ครูอาจารย์ นักเรียน บุคลากร ผู้รู้ในชุมชน อาชีพในพื้นที่
   
* การวางแผนกลยุทธ์ 3-5 ปี - แสดงถึงวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติงาน
  
 * ระบบงบประมาณ - การบริหารงบประมาณจะต้องมีความชัดเจนตรวจสอบได้ มุ่งผลงาน และเพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นสำคัญ
   
* การพัฒนาการเรียนรู้ - สื่อและข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนการสอน การประเมินผล การศึกษาอบรมของครู
   
* ระบบช่วยเหลือ - มีข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคล จำแนกเด็กเก่ง เด็กปกติ และเด็กด้อยโอกาส เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม
   
* บริหารบุคคล - ข้อมูลเกี่ยวกับครูอาจารย์ ทั้งในด้านการศึกษา การอบรม การจัดหา บรรจุ และเลิกจ้าง เพื่อช่วยในการพัฒนาครูให้เหมาะสมสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่
  
 * การประเมินภายใน - จัดเตรียมข้อมูลการพัฒนาหลักสูตร บุคลากร และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กและโรงเรียน

   3. เอกสารหลักสูตร จะต้องชี้แนวการสอนอย่างถูกต้อง ชัดเจน และทันสมัย เอกสารประกอบหลักสูตรและรายวิชาที่ละเอียดประณีต จะช่วยให้การบริหารหลักสูตรเป็นไปโดยง่าย สามารถติดตามการทำงานได้อย่างใกล้ชิดและเป็นขั้นเป็นตอน

   4. คณาจารย์มีคุณภาพ  เข้าใจหลักสูตรอย่างดี  เมื่อครูเป็นผู้เขียนหลักสูตรเองแล้ว ย่อมจะทำให้การศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรเป็นไปโดยง่าย สามารถปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงในห้องเรียนได้

   5. ผู้เรียนมีความพร้อมด้านความรู้พื้นฐานและคุณธรรม ทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม สถานศึกษาจะต้องจัดเตรียมระบบข้อมูลรายบุคคลของผู้เรียน โดยครูผู้สอนทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียนทุกๆ ด้าน

   6. มีทรัพยากรสนับสนุนที่ดีและเพียงพอ การบริหารการศึกษาในอนาคตอันใกล้เป็นการกระจายอำนาจในหลายๆ ด้าน ท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในการเรียนการสอน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล แหล่งเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน การระดมทรัพยากรจะต้องกระทำอย่างหลากหลายและกว้างขวางขึ้น

   7. ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาดีและมีประสิทธิภาพ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จุดเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะมีสอดแทรกอยู่เป็นระยะๆ ตลอดเวลา บทบาทในเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของครูคนใดคนหนึ่ง แต่ครูทุกคนจะมีบทบาทเป็นครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวได้ โดยเฉพาะครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก

   8. มีบรรยากาศทางวิชาการที่เอื้อต่อการแสวงหาความรู้  ทุกจุดทุกมุมของโรงเรียนและชุมชนเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ไม่ใช่จะต้องเรียนจากตำราอย่างเดียว หากครูเข้าใจก็จะสามารถดึงประสบการณ์ของผู้เรียนเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ การสร้างบรรยากาศทางวิชาการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความเอาใจใส่อย่างสูงจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น การจัดแสดงนิทรรศการหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในโรงเรียน หากทำให้เป็นปัจจุบันและให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำ ก็จะเป็นกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเด็กได้อีกแหล่งหนึ่ง เช่น นำผลงานของเด็กที่ดีเด่นมาแสดง ทั้งด้านศิลปะ  หรือในโรงอาหาร ติดป้ายให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ เป็นต้น

   9. มีระบบการติดตามและประเมินผล คณะกรรมการบริหารหลักสูตรรายวิชาจะต้องมาพูดคุยกันในแต่ละภาคการศึกษา และทุกสิ้นปีการศึกษา คณะกรรมการบริหารหลักสูตรสถานศึกษาก็จะต้องจัดการประเมินผล ดูภาพรวม และเขียนรายงานออกมา เป็นการประเมินภายในไปในตัว เป็นการทำงานที่ผลการปฏิรูปการเรียนการสอนจะไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง และควรเน้นการประเมินตามสภาพจริง

ระบบบริหารจัดการหลักสูตรที่ดีจึงต้องเป็นระบบที่มีคุณธรรม อันเป็นคุณสมบัติที่ดีทางจิตใจมีความรับผิดชอบต่อการจัดการเรียนการสอนให้ดีที่สุด  เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติจริง ถือได้ว่ามีจริยธรรม มีการควบคุมกายวาจา อันเป็นศีลธรรมของผู้สอน ทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดการเรียนการสอน และทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีความสมานฉันท์ ช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาผู้เรียน เติมเต็มผู้เรียนในทุกๆ ด้าน เมื่อประกอบกับโรงเรียนมีโครงสร้างและทำงานอย่างมีคุณภาพ ก็จะทำให้โรงเรียนเป็นระบบที่มีปัญญาเป็นพื้นฐานสามารถเรียนรู้ และปรับตัวได้ต่อเนื่อง



ขั้นตอนสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation) ที่ประสบผลสำเร็จ
   1. การผลักดันอัตราเร่งรีบ (urgency rate) ในช่วงภาวะที่ครูมีความสนใจตื่นตัวต่อกระแสการปฏิรูปการศึกษา และพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนา บทบาทของผู้บริหารคือการกระตุ้นและให้กำลังใจครูในการทำงาน

   2. การเตรียมส่วนผสมแห่งการนำ (guiding coalition)   ต้องรู้ว่าบุคลากรที่มีอยู่ ใครมีขีดความสามารถและศักยภาพในการทำงานอย่างไรบ้าง ในด้านการจัดทำหลักสูตรก็ต้องอาศัยคนที่มีความสนใจ มีประสบการณ์ และความสามารถสูงมาเป็นผู้ริเริ่ม และมีทีมงานที่จะสนับสนุนในการปฏิบัติ เพื่อการกระจายงานได้อย่างทั่วถึง โดยอาจจะเริ่มต้นจากคนหรือกลุ่มที่มีความพร้อมสูงก่อนเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องให้คนอื่นๆ ได้ปฏิบัติต่อไป

   3. พัฒนาวิสัยทัศน์และกลยุทธ์เพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมาย   วิสัยทัศน์นั้นเป็นเรื่องของการคิด แต่ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์จะต้องมีการวางกลยุทธ์ ขั้นตอนในการดำเนินงานโดยละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้บุคลากรทุกระดับได้เข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้

   4. สื่อสารวิสัยทัศน์ทั่วทั้งองค์กร จะต้องมีการทำความเข้าใจทั้งองค์กร ว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในด้านหลักสูตร ครุทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างหลักสูตร ร่วมกันปรับปรุงการเรียนการสอน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ จะต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

   5. การมอบอำนาจเพื่อเปลี่ยนระบบและวางโครงสร้างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การบริหารหลักสูตรแบบมีส่วนร่วม จะต้องกระจายอำนาจไปยังบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย กำหนดโครงสร้างและระบบการทำงานที่ชัดเจน ให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญร่วมกัน  ทั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มบทบาทของชุมชนและผู้ปกครองในการจัดการศึกษาด้วย

   หลักการและขั้นตอนข้างต้นนี้ เป็นหลักใหญ่ที่จะนำพาสถานศึกษาไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร  ในรายละเอียดของการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนนั้น ผู้บริหารและครูควรต้องร่วมกันกำหนดขั้นตอนวิธีการทำงานใหม่ให้ชัดเจน เนื่องจากครูมีภารกิจประจำมาก  เพราะฉะนั้นขั้นตอนการทำงานต่างๆ จะต้องสั้น ง่าย และไม่เป็นวิชาการมากเกินไป  การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นเพราะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และขาดการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมของผู้ปฏิบัติ ทำให้คนปฏิบัติเกิดความไม่เข้าใจ

   อย่างไรก็ตาม การบริหารหลักสูตรถือเป็นหัวใจของการบริหารวิชาการ  ถ้าโรงเรียนไม่บริหารวิชาการแล้วจะบริหารอะไร  การบริหารอาคารสถานที่ หรือการหมกมุ่นกับการสร้างรั้วหรือป้ายโรงเรียนมิใช่หรือที่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของไทยตกต่ำลงไปอยู่เกือบรั้งท้ายจากผลการจัดอันดับของหน่วยงานต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้  บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษายุคปฏิรูปจึงควรต้องเอาใจใส่ในเรื่องวิชาการอย่างจริงจัง   ควรตระหนักว่าสิ่งที่จะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาการศึกษา คืองานด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน

   หากสามารถปฏิบัติได้ตามหลักการและขั้นตอนเบื้องต้นนี้แล้ว ก็น่าเชื่อว่า ในที่สุดจะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่ทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันตรวจสอบประเมินผลการทำงาน และแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

MCI405 การวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรเเละการสอน

MCI 203 การจัดการนวัตกรรมเเละเทคโนโลยีสารสนเทศ